เลื่อยมีหลายชนิด เลือกใช้อย่างไรให้เหมาะสม

          สำหรับนายช่างประจำบ้าน หรือพ่อบ้านสายงานช่าง โดยเฉพาะคนที่ชอบงานไม้ หรืองานประดิษฐ์ ประกอบเฟอร์นิเจอร์เอง เครื่องมือช่างไม้ที่ขาดไม่ได้เลยเห็นจะเป็น เลื่อย แต่เลื่อยที่มีวางจำหน่ายมากมายอยู่ตามท้องตลาดก็อาจสร้างความสับสนให้กับช่างหรือผู้ใช้งานมือใหม่ได้ เพราะมีหลายรูปแบบหลายประเภทเสียเหลือเกิน มีทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ไหนจะรูปร่างและราคาที่แตกต่างกัน ครั้นจะซื้อมาใช้ทันทีก็ดูจะใช่เหตุจนเกินไป ดังนั้น ในบทความนี้พี่ไทจะชวนทุกคนมาทำความรู้จักเลื่อยประเภทต่าง ๆ รวมไปถึงวิธีการใช้งาน อ่านจบแล้ว จะสามารถออกจากบ้านไปซื้อเลื่อย ได้ตรงความต้องการแน่นอนครับ

 

1. เลื่อยลันดา

          เชื่อได้ว่าภาพจำในหัวของทุกคนเมื่อพูดถึงคำว่าเลื่อย ภาพของเลื่อยลันดาน่าจะขึ้นมาเป็นอันดับแรก แม้ว่าเราอาจจะไม่ทราบเลยก็ได้ว่าเลื่อยชนิดนี้มีชื่อเรียกว่าเลื่อยลันดา เลื่อยประเภทนี้ เป็นเลื่อยขนาดยาวที่มีด้ามจับอยู่ทางด้านบนของตัวเลื่อย นิยมใช้สำหรับตัดขวางตามเนื้อไม้ เพื่อให้เกิดรอยตัดที่เรียบ หรือตัดตามแนวยาวของเนื้อไม้ก็สามารถทำได้ ตามแต่ความถนัดในการใช้งาน ใบเลื่อยทำมาจากใบเหล็กแผ่นบางปลายเรียว โดยมีขนาดตั้งแต่ 14 – 28 นิ้ว ให้เลือกใช้งานตามความเหมาะสม
 

2. เลื่อยปังตอ

          เป็นเลื่อยที่ทำด้วยเหล็กแบนบางแต่แข็ง ใช้ในการบากปากไม้ เพื่อทำเดือยให้ไม้ 2 ชิ้น สามารถต่อกันได้ ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้ความปราณีตมากเป็นพิเศษ จึงส่งผลให้เลื่อยปังตอมีการทำฟันเลื่อยอย่างละเอียด และมีความคมเป็นอย่างมาก ฟันเลื่อยปังตอมีให้เลือก 2 ชนิด คือหยาบและละเอียด ความยาวใบเลื่อยจะมีขนาดตั้งแต่ 8 นิ้ว , 10 นิ้ว และ 12 นิ้ว

3. เลื่อยตัดกิ่งไม้

          เป็นเลื่อยที่มีไว้ใช้ตัดกิ่งไม้ตรงตามชื่อเลย ดังนั้น เลื่อยจึงมีลักษณะที่โค้ง เพื่อให้รับกับกิ่งไม้ ช่วยให้สะดวกในการใช้งาน และตัดกิ่งไม้ได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการประยุกต์การใช้งานแบบไทย ๆ ด้วยการนำเลื่อยตัดกิ่งไม้มาต่อด้ามจับให้ยาวขึ้นกว่าเดิมเพื่อให้ตัดกิ่งไม้ที่อยู่ในที่สูงที่ไม่สามารถเอื้อมถึง หรือเลื่อยตัดกิ่งไม้ที่มาพร้อมด้ามจับยืดหดปรับความยาวได้ก็มีขายเช่นเดียวกัน

4. เลื่อยฉลุ

          เลื่อยฉลุเป็นเลื่อยที่ใช้กับงานไม้ที่เราน่าจะคุ้นเคยและได้ยินชื่อกันมาตั้งแต่เด็ก เพราะเป็นเลื่อยที่ต้องใช้ในการทำงานประดิษฐ์ของนักเรียน ซึ่งนอกจากใช้ในงานประดิษฐ์รูปแบบต่าง ๆ แล้ว ยังเหมาะสำหรับการทำลวดลายลงบนไม้ ใบเลื่อยมีขนาดค่อนข้างเล็กมากเหมือนเส้นลวด จึงมีความอ่อนตัวมากเป็นพิเศษ ต้องใช้งานด้วยความระมัดระวัง โดยเวลาใช้งานต้องขึงใบเลื่อยกับด้ามและคันเลื่อยให้ตึงพอดี ไม่ตึงเกินไปและไม่หย่อนเกินไป เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการใช้งาน

5. เลื่อยคันธนู

          เป็นเลื่อยลักษณะคล้ายคันธนู ใช้สำหรับเลื่อยตัดแต่งกิ่งไม้ ตัดลำต้นต้นไม้ ตัดไม้ทำฟืน หรือตัดให้เป็นท่อน ๆ เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเคลื่อนย้าย โครงเลื่อยคันธนูผลิตจากเหล็กจึงมีความแข็งแรง ทนทาน ใบเลื่อยก็เช่นเดียวกันผลิตจากเหล็กที่มีคุณภาพ ทำให้ฟันเลื่อยมีความคมมากเป็นพิเศษ การใช้งานจึงสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว เลื่อยคันธนูมีให้เลือกใช้หลายขนาด ตั้งแต่ 12 นิ้ว, 21 นิ้ว, 24 นิ้ว และ 30 นิ้ว
 

6. เลื่อยตัดเหล็ก

          เป็นเลื่อยที่ใช้สำหรับตัดวัสดุต่าง ๆ ที่เป็นเหล็ก โลหะ รวมไปถึงท่อพีวีซี เมื่อเกิดการสึกหลอบริเวณใบเลื่อยจะสามารถถอดเปลี่ยนได้คล้ายกับเลื่อยฉลุ แต่ไม่สามารถนำไปใช้ตัดไม้ได้เพราะนอกจากจะตัดได้ช้าแล้ว ตัวใบเลื่อยจะเกิดความเสียหาย โดยใบเลื่อยตัดเหล็กนี้ จะมีหลายรูปแบบให้เลือกใช้งานตามความแข็งของวัสดุที่ต้องการจะตัด โดยมีให้เลือกทั้งแบบใบเลื่อยฟันหยาบและใบเลื่อยฟันละเอียด

 

7. เลื่อยฉลุฝ้า

          เลื่อยฉลุฝ้า หรือ เลื่อยหางหนู นิยมใช้ในการเจาะแผ่นฝ้า ผนังยิปซัม หรือใช้เลื่อยชิ้นงานเป็นแนวโค้ง หรือวงกลม ประกอบรูปทรงเฟอร์นิเจอร์ เพราะด้วยลักษณะของตัวเลื่อยที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก และมีใบเลื่อยยาว มีความคม ปลายเรียวเล็กแหลม ทำให้เหมาะกับการใช้งานในรูปแบบดังกล่าว โดยสามารถถอดเก็บและเปลี่ยนใบเลื่อยได้ นอกจากนี้ยังสามารถประยุกต์มาเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการตัดแต่งกิ่งไม้ที่เข้าถึงได้ยากได้อีกด้วย

 

          ทั้งหมดนี้คือเลื่อยทั้ง 7 แบบที่พี่ไทเลือกมานำเสนอ ซึ่งไม่ว่าจะเลือกใช้งานเลื่อยชนิดใดก็ตาม พี่ไทขอแนะนำให้นำเลื่อยไปใช้งานให้ถูกวิธีตามที่ได้ระบุไว้ เพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพที่อาจเกิดขึ้นตามมา รวมไปถึงการทำความสะอาดอยู่เป็นประจำเพื่อยืดอายุการใช้งาน โดยนอกจากเลื่อยทั้งหมดที่กล่าวมายังมีเลื่อยขนาดใหญ่อย่างเลื่อยไฟฟ้า เลื่อยวงเดือน เลื่อยจิ๊กซอว์ ซึ่งเป็นเลื่อยที่เหมาะกับงานช่างที่มีสเกลใหญ่มากขึ้น ยังไงในโอกาสหน้าพี่ไทจะเลือกมานำเสนอให้ได้ทำความรู้จักกันนะครับ
 
Cr. https://www.thaiwatsadu.com/th/articles/type-of-saw